โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ เป็นอีกหนึ่งแหล่งพลังงานธรรมชาติที่สำคัญในการผลิตกระแสไฟฟ้า มีกลไกการทำงานที่ไม่ซับซ้อนและประหยัดเชื้อเพลิง โดยอาศัยข้อดีของน้ำที่ไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำผ่านเครื่องกำเนิดไฟฟ้า แปรเปลี่ยนเป็นพลังงานบริสุทธิ์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม สามารถนำไปใช้ในครัวเรือน อุตสาหกรรม และการชลประทาน  

หลักการทำงานของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 

ปล่อยน้ำจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ ในที่นี้ คือ จากอ่างเก็บน้ำไปยังโรงไฟฟ้า เพื่อให้กระแสน้ำหมุนเพลากังหันน้ำและเพลาเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งจะส่งผลให้โรเตอร์ (ส่วนประกอบที่เคลื่อนไหวของระบบแม่เหล็กไฟฟ้าในมอเตอร์) หมุนจนเกิดการเหนี่ยวนำและทำให้เกิดเป็นพลังงานไฟฟ้า  

ข้อดีของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ  

1. ทรัพยากรในการผลิตมีให้ใช้อย่างไม่จำกัด น้ำ เป็นทรัพยากรที่มีวัฏจักรแบบหมุนเวียนตามธรรมชาติใช้แล้วไม่หมดไป ทำให้สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าได้อย่างต่อเนื่อง  

2. ต้นทุนในการผลิตต่ำ เมื่อเทียบการผลิตไฟฟ้าด้วยโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำกับวิธีอื่นในระยะยาวนั้นถือว่าคุ้มค่ากว่ามาก ทั้งเรื่องทรัพยากร เจ้าหน้าที่ การดูแลรักษา และต้นทุนที่ใช้การผลิต 

3. ควบคุมปริมาณการผลิตได้ ในการผลิตกระแสไฟฟ้าปริมาณที่ได้จะขึ้นอยู่กับกระแสน้ำที่ใช้ ดังนั้นจึงสามารถนำมาควบคุมปริมาณเพื่อให้ได้กระแสไฟฟ้าตามที่ต้องการ  

4. ป้องกันการเกิดอุทกภัย การกักเก็บน้ำเพื่อจุดประสงค์ในการผลิตกระแสไฟฟ้า สามารถเพิ่มประโยชน์ทางอ้อมในการจัดการกับปัญหาภัยแล้งและการเกิดอุทกภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ  

5. มีความรวดเร็วในการผลิตกระแสไฟฟ้า ระยะเวลาในการจ่ายกระแสไฟเริ่มต้นได้ภายในเวลา 4-5 นาที พร้อมสามารถปรับลดหรือเพิ่มพลังโดยไม่เสียสมดุล 

6. ระยะเวลาในการใช้งาน ประสิทธิภาพของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำจะขึ้นอยู่กับเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุการใช้งานนานกว่า 50 ปี  

ข้อเสียของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ 

1. ต้นทุนในการสร้างเขื่อนและโรงไฟฟ้าสูง เขื่อน เป็นสิ่งก่อสร้างขนาดใหญ่ทำให้ใช้เวลาและทุนทรัพย์ที่มหาศาล 

2. ใช้เวลาในการดำเนินการค่อนข้างนาน โครงการที่จะสร้างแต่ละโครงการต้องอาศัยเวลาในการสำรวจพื้นที่ที่เหมาะ ซึ่งบางที่ใช้เวลานานกว่า 4-5 ปี จึงจะได้บทสรุปที่ชัดเจน 

3. มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เนื่องจากการก่อสร้างกินพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ส่งผลทำให้สภาพพื้นที่เปลี่ยนแปลงไปทั้งที่อยู่อาศัย ที่ทำกิน ป่าไม้ และระบบนิเวศ จากพื้นที่อันอุดมสมบูรณ์ถูกรบกวนจนเสียสมดุล ซึ่งต้องใช้เวลานานในการฟื้นฟู 

4. ผลิตกระแสไฟฟ้าไม่ได้เมื่อเกิดภัยแล้ง แน่นอนว่า น้ำเป็นแหล่งพลังงานหลักของโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ หากมีปริมาณน้อยก็ย่อมส่งผลกระทบต่อปริมาณการผลิตกระแสไฟฟ้า มีบางกรณีที่แสดงให้เห็น เช่น สหรัฐอเมริกาในปี 2012-2016 ต้องเผชิญกับการขาดแคลน ส่งผลให้ต้องพึ่งพาพลังงานอื่นทดแทนการผลิตไฟฟ้าพลังงานน้ำ  

5. มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของคนรอบเขื่อน ผู้คนที่อาศัยอยู่โดยรอบเขื่อนมีโอกาสเสี่ยงได้รับผลกระทบมากที่สุด ทั้งน้ำท่วม อันตรายจากการพังทลายของเขื่อน และต้องยอมเสียสละพื้นที่ที่ตนอยู่อาศัย 

การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำ ถือเป็นทรัพยากรทางธรรมชาติที่สำคัญอีกอย่างหนึ่งของประเทศไทยในการผลิตกระแสไฟฟ้าพลังงานสะอาด แต่ในขณะเดียวกันผลกระทบจากการก่อสร้างเขื่อนหรือโรงงานไฟฟ้าก็มีมหาศาล ทั้งผลกระทบที่มีต่อชีวิตมนุษย์ สิ่งแวดล้อม และระบบนิเวศโดยรอบ แปรเปลี่ยนเป็นพื้นที่กักเก็บน้ำขนาดใหญ่ พร้อมปัญหาการผลิตกระแสไฟฟ้าได้ในปริมาณน้อยจากภัยแล้ง และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังผู้ใช้ไฟฟ้าในการดำรงชีวิต